“โควิด-19” กระทบแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน ครม.สั่งทบทวนแนวทางบริการจัดการใหม่

"โควิด-19" กระทบแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน ครม.สั่งทบทวนแนวทางบริการจัดการใหม่

“โควิด-19” กระทบแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน ครม.สั่งทบทวนแนวทางบริการจัดการใหม่

ครม.มอบ “แรงงาน-มหาดไทย” ทบทวนหาแนวทางบริหารจัดการแรงงาน 3 สัญชาติ “กัมพูชา-ลาว-เมียนมา” ในประเทศรวมกว่า 2.3 ล้านคน หลังการแพร่ระบาด “โควิด-19” รอบใหม่ส่งผลกระทบต้องชะลอการส่งตัวกลับ-ไม่สามารถต่อวีซ่าได้ทันตามกำหนด

หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา -2019 หรือ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (26 มกราคม 2564) ได้มีมติเห็นชอบให้ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยใหม่ รวมถึงมาตรการต่างๆที่จะส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถต่อวีซ่าได้ทันตามกำหนดซึ่งจะส่งผลถึงภาคธุรกิจและผู้ประกอบการของไทย 

"โควิด-19" กระทบแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน ครม.สั่งทบทวนแนวทางบริการจัดการใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่  (โควิด-19) และการบริหารจัดการผู้ต้องกักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 ระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คาดว่า จะตรวจสุขภาพและต่อวีซ่าไม่ทันภายในกำหนด รวมถึงการชะลอการส่งกลับผู้ต้องกักที่ได้รับโทษหรือดำเนินคดีเสร็จสิ้น จากมาตรการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ทำให้การส่งกลับทำได้ล่าช้ากว่าปกติ 

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2,335,671 คน ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

1.กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน  1,400,387 คน ประกอบด้วย

        -กลุ่มแรงานต่างด้าวตามมติ ครม. 20 สิงหาคม 2562 จำนวน 1,162,443 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 

        -กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. 4 สิงหาคม 2563 จำนวน 237,944 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

2.กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MOU จำนวน 434,784 คน ประกอบด้วย 

        -กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. 10 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 119,094 คน

        -กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MOU วาระการจ้างงานครบ 2 ปี จำนวน 315,690 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งจะทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565

3.กลุ่มแรงงานต่างด้าวอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียน   

        -ตามมติ ครม. 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียนคาดว่า มีจำนวนประมาณ 500,000 คน ให้จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometics) เพื่อการพิสูจน์ ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด-19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564  ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้วให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน

ทั้งนี้ ยังให้สถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถร่วมตรวจโควิด-19 ได้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 เร่งด่วน และสถานพยาบาลของรัฐอาจมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการตรวจตามกำหนดภายในวันที่ 16 เมษายน 256 โดยอัตราค่าตรวจ โควิด-19 ต้องไม่เกิน 2,300 บาท ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด

สำหรับกลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่มีประมาณ 500 คน ซึ่งอยู่ระหว่างรอการส่งกลับให้สามารถทำงานกรรมกรและงานบ้านได้ จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้ในการดูแล เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ต้องส่งกลับประเทศต่อไป

“หลังจากนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน จะออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้น” โฆษกรัฐบาลกล่าว

ที่มา : https://www.thansettakij.com/