แรงงานข้ามชาติกว่า 7 แสนคน ตกงานจากโควิด ไร้เงิน-ที่อยู่ กลับประเทศไม่ได้

แรงงานข้ามชาติกว่า 7 แสนคน ตกงานจากโควิด ไร้เงิน-ที่อยู่ กลับประเทศไม่ได้

แรงงานข้ามชาติกว่า 7 แสนคน ตกงานจากโควิด ไร้เงิน-ที่อยู่ กลับประเทศไม่ได้

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) จัดแถลงข่าว “แรงงานข้ามชาติกับโควิด-19 : เราทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2563 (International Migrants Day 2020)

นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แถลงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการข้ามแดน ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากรัฐบาลไทย ได้ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง รวมถึงการปิดการเดินทางเข้า-ออกตามแนวชายแดน ส่งผลให้ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนที่ผ่านมา เฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณทล เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กาญจนบุรี พังงา ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ระยอง ชลบุรี แรงงานข้ามชาติไม่มีงานทำถึง 345,072คน แบ่งเป็นรายกิจกาค ค่อ ก่อสร้าง 77,354 คน, โรงงานอุตสาหกรรม (ชิ้นส่วนรถยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตอาหาร ฯลฯ) 83,532 คน ,งานบริการ 42,647 คน, ด้านการท่องเที่ยว การโรงแรมและงานต่อเนื่อง 57,325 คน ,ร้านอาหาร 44,393 คน, เกษตรและต่อเนื่องเกษตร 32,436 คน และอื่น ๆ 7,385 คน โดยคาดว่าตัวเลขนี้มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนของแรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหาจริง ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 7 แสนคน

แรงงานข้ามชาติกว่า 7 แสนคน ตกงานจากโควิด ไร้เงิน-ที่อยู่ กลับประเทศไม่ได้

นายอดิศร ระบุว่า มาตรการในการดำเนินการของรัฐได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติดังนี้

1. แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งถูกเลิกจ้าง และบางส่วนนายจ้างไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้ นอกจากนี้หลายกิจการไม่มีการนำแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติ ไม่ได้รับการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ให้ความช่วยเหลือเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

2. แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้าง หรือถูกสั่งให้แรงงานข้ามชาติพักงานอย่างไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีการจ่ายชดเชยหรือค่าจ้าง รวมทั้งการเข้าถึงกลไกคุ้มครองและเยียวยายังเต็มไปด้วยอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำร้องตามช่องทางปกติ ที่ต้องยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหลายพื้นที่มีการห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ และเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในมาตรการทำงานจากบ้าน ขณะที่การยื่นคำร้องในระบบออนไลน์ทำได้ยากเนื่องจากเวบไซต์ที่ใช้ยื่นมีเพียงภาษาไทย (มีภาษาอังกฤษในบางส่วน) และมีเงื่อนไขเรื่องเอกสารและหลักฐานการยื่นอื่น ๆ ค่อนข้างมาก

3. นโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติมีความตึงตัว ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการจ้างแรงงานปัจจุบันได้ แรงงานข้ามชาติหลายคนเมื่อถูกเลิกจ้างก็ไม่สามารถย้ายนายจ้างได้โดยง่าย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้แรงงานข้ามชาติจะต้องพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นความผิดของนายจ้างเดิม หรือชดใช้ค่าเสียหายให้นายจ้างเดิม และจะต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน ซึ่งไม่สามารถทำได้ในช่วงการระบาดของโควิด-16 ซึ่งการยึดกฎหมายเป็นหลักโดยไม่ผ่อนปรนในกรณีนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งหลุดจากการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วยังพบนายจ้างจำนวนหนึ่งที่เลิกจ้างโดยใช้วิธีการไม่ต่อใบอนุญาตทำงานที่กำลังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และ

4. รัฐบาลยังขาดความชัดเจนในการจัดการแรงงานข้ามชาติที่รอเข้าประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังมาตรการการผ่อนคลาย ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติมากกว่าหนึ่งแสนคนที่รอเดินทางเข้าประเทศ ทั้งแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงานอยู่ ซึ่งได้ขอวีซ่ารักษาสิทธิใบอนุญาตทำงาน (Re-Entry Visa) เพื่อเดินทางกลับประเทศแล้วยังไม่ได้กลับเข้ามา ประมาณ 69,235 คน และแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ที่นายจ้างได้ยื่นหนังสือแสดงความต้องการ (Demand Letter) ไปที่ประเทศต้นทางแล้ว และนายจ้างยังต้องการนำเข้ามา แต่ไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ ประมาณ 42,168 คน

“แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่ดำเนินการขอนำเข้าตาม MoU ที่รอการดำเนินการได้มีการกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการในการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานได้ ดอกเบี้ยเงินกู้และภาระหนี้สินก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน การขาดแนวทางที่ชัดเจนและปลอดภัยในการนำเข้า ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และส่งผลให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งลักลอบเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย” ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติระบุ

แฉ นายจ้างลอยแพ ไม่ทำให้ออกงาน-ไม่ชดเชย หวังเรียกกลับหลังโควิด-19 

น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า นโยบายรัฐที่สั่งปิด ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ไม่ได้มีผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะภาคบริการเท่านั้น แต่ปัญหาลงลึกไปถึงภาคการผลิต ที่ผลิตสินค้าส่งห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมตัดเย็บ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และคนกลุ่มคนเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆของรัฐ รวมถึงผลกระทบทางกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม ที่เยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ เพราะนายจ้างไม่ยอมออกใบออกจากงานให้ เนื่องจากคิดว่าเมื่อโควิด-19 หายไป จะเรียกคนงานเหล่านี้กลับคืนมา

“ไม่แจ้งออก แต่ก็ไม่รับผิดชอบในการจ่ายเงินตอนหยุดชั่วคราว ไม่มีค่าชดเชยถ้าให้ออก โดยอ้างว่าโควิด-19มา ไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชย ถือเป็นการฉกฉวยโอกาสในพริบตาเดียว มีเงื่อนไขกับแรงงาน ทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากรัฐได้ทั้งที่เขามีสิทธิได้รับ โดยจากการลงพื้นที่ 23 โรงงานมี แค่ 3 โรงงานเท่านั้นที่แรงงานได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย” น.ส.สุธาสินีระบุ

น.ส.สุธาสินี กล่าวว่าเมื่อแรงงานเข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตในไทยได้ จึงต้องกลับบ้านเกิด แต่รัฐก็ออกมาตรการขอให้แรงงานข้ามชาติพำนักอยู่ในไทยไปพลางๆก่อน แต่อยู่แบบที่รัฐเองก็ไม่ได้เยียวยาอะไร ทำให้คนงานลำบากมาก บางคนไม่มีอาหาร ไม่มีค่าเช่าห้อง อย่าง แรงงานชื่อ วาววา เป็นแรงงานเมียนมาที่ท้อง แต่ถูกเลิกจ้าง และเธอมีอาการแพ้ท้องอย่างหนัก ส่วนสามีเพิ่งกลับประเทศต้นทางตอนที่พาสปอร์ตหมดอายุ และเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้วาววา ต้องอยู่คนเดียว โดยที่ไม่มีเงินแม้แต่จะกินข้าว

การเสวนาเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) ได้อ่านข้อเสนอในเรื่องการบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 หกข้อที่มีต่อรัฐไทยซึ่งมีรายละเอียดังนี้

1. รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการ และแผนการในการจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 ในแต่ละระยะ (สั้น กลาง ยาว) ให้ชัดเจน ที่รับรองว่าแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เข้าถึงสิทธิและบริการตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงต้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐ หรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับแรงงานข้ามชาติ

2. รัฐบาลไทยจะต้องกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยกำหนดแนวทางในการป้องกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติในประเทศหลุดจากระบบการจ้างงาน เช่น เงื่อนไขในการเปลี่ยนย้ายนายจ้างให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติที่อยู่นอกระบบให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง และกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเด็นไทย ควบคู่ไปกลับมาตรการป้องกันโรค

3. รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางจะต้องเร่งดำเนินการจัดทำเอกสารหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทาง ให้แก่แรงงานข้ามชาติที่เอกสารประจำตัวกำลังจะหมดอายุซึ่งกำลังจะกลายเป็นคนเข้าเมืองและทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และรัฐบาลไทยจะต้องมีมาตรการรองรับเร่งด่วนโดยผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถดำเนินการด้านการต่อเอกสารประจำตัวได้ทัน ให้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ระหว่างรอการดำเนินการ รวมถึงมีมาตรการร่วมกันในการเดินทางข้ามแดนในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ

4. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองแรงงาน และการได้รับสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านภาษา เอกสารแสดงตน สถานะทางกฎหมาย เช่น การจัดทำระบบการรับคำร้องหรือยื่นคำร้องทางออนไลน์ที่มีภาษาของแรงงานข้ามชาติ ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคลงเป็นต้น

5. รัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข จะต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่รองรับการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติ คนข้ามชาติ และทุกคนในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงการมีหลักประกันทางสุขภาพและป้องกันโรคติดต่อ เช่น การเปิดขายประกันสุขภาพ หรือการกำหนดให้ทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล การตรวจโรคได้เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19

6. รัฐบาลไทยและกระทรวงศึกษาจะต้องมีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือให้เด็กข้ามชาติ สามารถเข้าถึงการศึกษา การเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และป้องกันการแสวงหาประโยชน์ การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก ในกลุ่มเด็กข้ามชาติ

ที่มา : https://www.matichon.co.th/