สแกนต่างด้าวเถื่อน จับแรงงานผิดกฎหมาย

สแกนต่างด้าวเถื่อน จับแรงงานผิดกฎหมาย

สแกนต่างด้าวเถื่อน จับแรงงานผิดกฎหมาย

“ฉก.ลาดหญ้าจับ 58 แรงงานพม่า หลบหนีข้ามแดนกลางป่าไทรโยค” ไทยรัฐออนไลน์ 26 เม.ย.2564 20.45 น. หลังเดินมาจากเมืองทวาย น่าสนใจว่าพวกเขารับว่า “จ่ายเงิน” ให้ “นายหน้า” หัวละ 10,000-15,000 บาท เพื่อที่จะพามาทำงานที่กรุงเทพฯ สมุทรสาคร

เหตุที่จับได้ไล่ทันนั้นสืบเนื่องมาจากสายลับข่าวความมั่นคงชายแดนอำเภอไทรโยค แจ้งว่ามีขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ได้ลักลอบนำพาแรงงานเดินเท้าข้ามแดนทางช่องทางธรรมชาติช่องทางพุชะนี โดยเดินเท้าเลียบเขา 5 กิโลเมตร และให้แรงงานพักคอยเพื่อรอเคลื่อนย้าย

ประเด็นสำคัญมีว่า…แรงงานเถื่อน มีการลักลอบทะลักล้นเข้ามากันแบบรายวัน ที่จับได้ก็ว่ากันไปแต่ที่จับไม่ได้ก็คงมีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ความกังวลช่วงไวรัส “โควิด-19” ระบาดหนักเช่นนี้ “กระทรวงแรงงาน” ได้ตั้งชุดเฉพาะกิจกวดขัน จับกุมต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

“ชุดเฉพาะกิจ” จะติดตาม ตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว เอาผิดนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวผิดกฎหมาย…ต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง…ทำงานผิดกฎหมาย และคนต่างด้าวที่มิได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมติ ครม. วันที่ 29 ธันวาคม 2563

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างยิ่ง

หากย้อนไปดูมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เห็นชอบการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ…กัมพูชา ลาว เมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

ประกอบกับมติ ครม. วันที่ 26 มกราคม 2564 และมติ ครม. วันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ได้เห็นชอบขยายเวลาตรวจโควิด -19 และตรวจ อัตลักษณ์บุคคล จนถึงวันที่ 16 มิ.ย.64 พร้อมกับยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานตามกำหนดเดิม(วันที่ 16 มิ.ย.64)

เพื่อให้นายจ้าง…สถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวมีแรงงานในการขับเคลื่อนธุรกิจ และสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆได้ทันภายในกำหนด รวมทั้งลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วประเทศ รวม 2,245,859 คน แบ่งเป็นแรงงานฝีมือและอื่นๆ 217,233 คน…แรงงานประเภททั่วไป 2,028,626 คน ซึ่งแยกเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU 738,880 คน แรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. (20 ส.ค.62) 941,552 คน

แรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. (4 ส.ค.63) 205,209 คน แรงงานต่างด้าวกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิม 265 คน และแรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. (29 ธ.ค.63) 142,720 คน

“หลังสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนด กระทรวงจะตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กับเป้าหมายทั้งสามกลุ่ม”

สแกนต่างด้าวเถื่อน จับแรงงานผิดกฎหมาย

ได้แก่ นายจ้าง…สถานประกอบการและผู้เกี่ยวข้องที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย, คนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองและทำงานโดยผิดกฎหมาย และคนต่างด้าวที่มิได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลการขออนุญาตทำงานทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมติ ครม.วันที่ 29 ธันวาคม 2563

ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวฯ ได้ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว 6 ชุด เพื่อตรวจสอบปราบปราม ดำเนินคดีกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรแล้ว

ไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางานเสริมว่า เรามีหน้าที่ดูแล ตรวจสอบ ควบคุมการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศให้เป็นไปตามกฎหมายและเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยมากที่สุด

ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 (1 ต.ค.63-22 เม.ย.64) ได้ตรวจสอบนายจ้าง…สถานประกอบการแล้ว จำนวน 23,103 ราย/แห่ง ดำเนินคดี จำนวน 647 ราย/แห่ง และตรวจสอบคนต่างด้าว จำนวน 331,689 คน ดำเนินคดี จำนวน 541 คน

สแกนต่างด้าวเถื่อน จับแรงงานผิดกฎหมาย

ย้ำว่า “คนต่างด้าว” ที่ทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วน “นายจ้าง…สถานประกอบการ” จะถูกดำเนินคดีข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน

หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000–200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับและห้ามจ้างคนต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี

“สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างทางกายภาพ”…ยังคงเป็นสิ่งสำคัญของทุกคนในการป้องกันการติดเชื้อ ไม่เว้นแม้แต่ “แรงงานต่างด้าว” ก็ต้องเข้าใจ และปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

“กรมการจัดหางาน” เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดและสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร มีการประสานนายจ้าง…สถานประกอบการในพื้นที่ของตนเอง ให้ทราบมาตรการ “ป้องกัน” และ “ควบคุม” โรคอย่างเป็นปัจจุบัน

ไพโรจน์ บอกอีกว่า ที่ผ่านมากรมมีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยการชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ

โดยใช้มาตรการ “ขยายเวลา” การอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้ของแรงงานต่างด้าวกลุ่มต่างๆที่ทำงานอยู่ภายในประเทศ

กรณีหนังสือเดินทางใบอนุญาตทำงานหมดอายุ หรือครบกำหนดการอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทย และให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ใบอนุญาตสิ้นสุด หรือหลบหนีเข้าเมือง ลงทะเบียนออนไลน์กับกระทรวง แรงงาน ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวลงทะเบียน จำนวน 654,864 คน

โดยทั้งหมดต้องดำเนินการตรวจโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 มิ.ย.2564 มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ และกลายเป็นคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน

สุดท้ายนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด “โควิด-19” ในภาพรวมคงต้องตอกย้ำทิ้งท้ายด้วย “3 ปัจจัย” สำคัญที่จะทำให้ปลอดภัยจากโรค “โควิด-19”…ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้ทุกๆคนมีทางเลือกที่จะปลอดภัยยิ่งขึ้น เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” เป็นวงกว้าง

ปัจจัยแรก…สถานที่โล่ง ปลอดภัยกว่าสถานที่ปิด ปัจจัยที่สอง…ระยะห่าง อยู่ห่างจากคนอื่น ปลอดภัยกว่าอยู่ใกล้กัน ปัจจัยสุดท้าย…เวลา ใช้เวลากับคนอื่นน้อยๆปลอดภัยกว่าอยู่ด้วยกันนานๆ.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/