ย้ำ ต่างด้าวผิด ก.ม.ไม่ลงทะเบียนออนไลน์ในกำหนด ไม่สามารถทำงานได้อีก (คลิป)

ย้ำ ต่างด้าวผิด ก.ม.ไม่ลงทะเบียนออนไลน์ในกำหนด ไม่สามารถทำงานได้อีก (คลิป)

ย้ำ ต่างด้าวผิด ก.ม.ไม่ลงทะเบียนออนไลน์ในกำหนด ไม่สามารถทำงานได้อีก (คลิป)

กระทรวงแรงงาน ย้ำ คนต่างด้าวที่อยู่แบบผิดกฎหมายและไม่ลงทะเบียนออนไลน์ภายในกำหนดตามกฎเกณฑ์ ต่างด้าวที่มีนายจ้าง กับต่างด้าวไม่มีนายจ้าง จะไม่สามารถอยู่และทำงานได้อีกต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้าง สถานประกอบการดำเนินการแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวที่ต้องการจ้าง และคนต่างด้าวลงทะเบียนแจ้งข้อมูลบุคคลผ่านระบบออนไลน์ สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้รับการผ่อนผัน ตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 63 ระหว่างวันที่ 15 ม.ค. 64 ถึง 13 ก.พ.64 ที่ผ่านมา หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ และไม่สามารถอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำงานได้อีกต่อไปนั้น

ย้ำ ต่างด้าวผิด ก.ม.ไม่ลงทะเบียนออนไลน์ในกำหนด ไม่สามารถทำงานได้อีก (คลิป)

ขั้นตอนต่อไปให้คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้าง ที่ดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อฯ แล้ว ต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด–19 และซื้อประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด–19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ทั้งนี้ หากมีเหตุให้ไม่สามารถตรวจโรคต้องห้ามได้ทัน พร้อมกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด–19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564

จากนั้นคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง ให้ไปชำระเงินค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือธนาคารกรุงไทย และให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวในระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และคนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติและรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) กับกรมการปกครอง ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564

ส่วนคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง ให้ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) ตามวิธีการที่กรมการปกครองกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เมื่อมีนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงาน ให้ไปชำระเงินค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือธนาคารกรุงไทย และให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) กับกรมการปกครอง ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

ซึ่งหากคนต่างด้าวไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด และทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ์จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกผลักดันส่งกลับ ส่วนนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ์จะทำได้ มีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคน ต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อ คนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีล่ามภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ที่มา : https://www.thairath.co.th/