ตั้งฉก. 6 ชุด ลุยเอาผิดแรงงานต่างด้าวเถื่อน

ตั้งฉก. 6 ชุด ลุยเอาผิดแรงงานต่างด้าวเถื่อน

ตั้งฉก. 6 ชุด ลุยเอาผิดแรงงานต่างด้าวเถื่อน

“สุชาติ” เอาจริง สั่งตั้งชุดตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว เอาผิดนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวผิด ก.ม. 3 กลุ่ม

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จึงมีมติ ครม. วันที่ 29 ธ.ค.63 เห็นชอบการผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ประกอบกับมติ ครม. วันที่ 26 ม.ค.64 และมติ ครม. วันที่ 7 เม.ย.64 ที่ได้เห็นชอบขยายเวลาตรวจโควิด-19 และตรวจอัตลักษณ์บุคคล จนถึงวันที่ 16 มิ.ย. 64 พร้อมกับยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางาน (กกจ.) ตามกำหนดเดิม (วันที่ 16 มิ.ย. 64) เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวมีแรงงานในการขับเคลื่อนธุรกิจ และสามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ได้ทันภายในกำหนด รวมทั้งลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคโควิด–19

“หลังสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว กระทรวงแรงงานจะตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กับเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่

1.นายจ้าง/สถานประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย

2.คนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองและทำงานโดยผิดกฎหมาย

3.คนต่างด้าวที่มิได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลการขออนุญาตทำงานทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมติ ครม.วันที่ 29 ธ.ค.63 ภายในวันที่ 13 ก.พ.64 ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวฯ ได้ให้ความเห็นชอบแต่งตั้งชุดติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว จำนวน 6 ชุด เพื่อตรวจสอบ ปราบปราม และดำเนินคดีกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรแล้ว” รมว.แรงงาน กล่าว

ตั้งฉก. 6 ชุด ลุยเอาผิดแรงงานต่างด้าวเถื่อน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดี กกจ. กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2564 (1 ต.ค. 63 – 22 เม.ย. 64) กกจ.ได้ตรวจสอบนายจ้าง/สถานประกอบแล้ว จำนวน 23,103 ราย/แห่ง ดำเนินคดี จำนวน 647 ราย/แห่ง และตรวจสอบคนต่างด้าว จำนวน 331,689 คน ดำเนินคดี จำนวน 541 คน ขอย้ำว่าคนต่างด้าวที่ทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000–50,000 บาท และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนนายจ้าง/สถานประกอบการ จะถูกดำเนินคดีข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000–100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000–200,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/