ครม.เห็นชอบแรงงาน MOU 3 สัญชาติ อยู่ไทยต่อไม่เกิน 2 ปี

[vc_row][vc_column][vc_column_text]

ครม.เห็นชอบแรงงาน MOU 3 สัญชาติ อยู่ไทยต่อไม่เกิน 2 ปี

ในวันอังคารนี้ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน (Agreement) ที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไป

ครม.เห็นชอบแรงงาน MOU 3 สัญชาติ อยู่ไทยต่อไม่เกิน 2 ปี

โดยตัวเลขของแรงงานกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนประมาณ 1.3 แสนคน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ จากตัวเลขแรงงานที่เข้ามาทำงานตาม MOU ดังกล่าวในจำนวนทั้งหมด 8.8 แสนคน ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการ เนื่องจากแรงงาน 3 สัญชาติคือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา บางส่วนเดินทางกลับประเทศ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าไทยได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ แรงงานกลุ่มดังกล่าวเป็นแรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานโดยผ่านกระบวนการบันทึกความเข้าใจด้านแรงงานที่ประเทศไทย ได้เห็นชอบกับกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ในช่วงปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา เพื่อการอนุญาตให้แรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยถูกกฎหมายอย่างเป็นระบบ เพิ่มเติมไปจากการนำเข้าแรงงานด้วยกฎหมายเดิม

อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวจะอนุญาตให้แรงงาน ซึ่งเข้ามาทำงานตาม MOU ที่มีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานได้อีกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเป็นการอยู่เพื่อทำงานต่อได้ไม่เกิน 1 ปี และหากประสงค์อยู่ต่อให้ขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรได้อีกไม่เกิน 1 ปี โดยจะได้รับการยกเว้นเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดแก่คนต่างด้าวที่ระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 1–30 พฤศจิกายน 2563

โดยแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวจะต้องดำเนินการดังนี้

1) ตรวจสุขภาพ เพื่อนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นขออนุญาตทำงานและขออนุญาตอยู่ราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป

2) ยื่นขออนุญาตทำงานต่อนายทะเบียน โดยให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงานให้ตามระยะเวลาที่ผู้ขออนุญาตร้องขอ แต่ไม่เกิน 2 ปี

3) ขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อไป โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการตรวจใบอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ครั้งละไม่เกิน  1ปี ค่าธรรมเนียมคำขอ จำนวน 1,900 บาท

4) จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยในลำดับต่อไป กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานจะเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติได้รับทราบและดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติขยายให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ได้อยู่ต่อและทำงานในราชอาณาจักรไปแล้วหนึ่งครั้ง เป็นระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ไปจนถึง31 กรกฎาคม 2563 เป็นการชั่วคราว เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ระยะเวลาดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าดีขึ้นแต่ยังไม่เพียงพอให้เปิดพรมแดนรับแรงงานต่างด้าวที่ได้เดินทางกลับบ้านไปแล้ว ได้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง

ต่อมติดังกล่าว นางสาวพัชนี คำหนัก นักวิจัยแรงงานจาก Thai Labour Watch กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับมติดังกล่าว แต่น่าจะครอบคลุมแรงงานต่าวด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ได้มากกว่านี้ จำนวนแรงงานที่ถูกจ้างงานครบ 4 ปีนั้น มีจำนวนน้อยเกินไป อาจไม่พอกับความต้องการแรงงานในปัจจุบัน

“นอกจากการขยายระยะเวลาการทำงานแล้ว แรงงานต่างด้าวสมควรจะได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้ ที่ผ่านมาในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักช่วงต้นปี แรงงานต่างด้าวไม่ได้รับการเยียวยาเลย นี่เป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการหารือทั้งฝ่ายรัฐ นายจ้าง และภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติ” นางสาวพัชนีระบุ

นางสาวพัชนีกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเคยมีมติเห็นชอบดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานในประเทศได้กว่า 100,000 คน แต่ก็เงียบไป เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากเพราะถ้าดูจากโครงสร้างสาธารณสุขบ้านเรา น่าจะพอรับไหว ในเรื่องการกักตัว หรือใช้สถานที่ต่างๆ เป็นเรื่องที่รัฐต้องลงทุน แม้จะต้องตรวจโรคโควิด-19 กับแรงงานทุกคนที่เดินทางเข้ามาก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เคยมีมติเห็นชอบดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 6 โดยจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานในประเทศได้ กว่า 100,000 คน รวมทั้งเสนอให้ต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่พบความคืบหน้าในมาตรการดังกล่าว

ต่อมาตรการการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงาน แต่รัฐจำเป็นต้องมีมาตรการที่ดีพอในการรองรับ

“รัฐควรเปิดให้กลับเข้ามา เพราะถ้าไม่เปิดก็จะมีการลักลอบ แต่ต้องแบ่งการเข้ามาเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกให้กลุ่มที่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่าเข้ามาก่อน เพราะปัญหาน้อยมีนายจ้างรองรับ ระยะที่สองให้กลุ่มที่ทำเอ็มโอยูแล้วกลับเข้ามา ก่อนที่สุดท้าย ให้กลุ่มแรงงานใหม่ ที่ยังไม่มีใบอนุญาต โดยกลุ่มสุดท้ายน่าจะให้รอถึงสิ้นปี” นายอดิศร กล่าว

ที่มา : https://www.benarnews.org/[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]