ขาด “แรงงานต่างด้าว” ธุรกิจเล็กแย่ ยอมเสี่ยงใช้ “คนลักลอบเข้า” ลดต้นทุน

ขาด “แรงงานต่างด้าว” ธุรกิจเล็กแย่ ยอมเสี่ยงใช้ “คนลักลอบเข้า” ลดต้นทุน

ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2563 ไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (COVID-19) ระลอกแรก ซึ่งเวลานั้นมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 3,000 กว่าราย ความหวาดกลัวกระจายหลายพื้นที่ จนเกิดภาพ “แรงงานต่างด้าว” แห่หลั่งไหลกลับสู่บ้านเกิดมากถึง 3.1 แสนราย จนมาถึงต้นปีนี้ (2564) ภาพนั้นก็ย้อนกลับมาอีกครั้ง กับรายละเอียดที่ “แตกต่าง”

ขาด "แรงงานต่างด้าว" ธุรกิจเล็กแย่ ยอมเสี่ยงใช้ "คนลักลอบเข้า" ลดต้นทุน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “แรงงานต่างด้าว” สำคัญกับภาคธุรกิจไทยไม่น้อย

นับตั้งแต่การระบาดโควิด-19 ระลอกแรกเริ่มต้นขึ้น บรรดานายจ้างก็มีความกังวลมาตลอดว่า การหลั่งไหลกลับสู่บ้านเกิดของ “แรงงานต่างด้าว” กว่าแสนรายอาจส่งผลกระทบต่อ “ภาวะขาดแคลนแรงงาน” ในยามที่เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง

มาวันนี้… การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ (ครั้งที่ 3) ของไทย ก็เหมือนว่าจะแปรเปลี่ยนจากแค่ “ความกังวล” กลายเป็น “ความจริง” ที่บรรดานายจ้างจำต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“ภาวะขาดแคลนแรงงาน…ย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน!”

ถ้อยคำยืนยันจาก รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ “ทีดีอาร์ไอ” (TDRI) ที่กล่าวกับ “ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์” พร้อมอธิบายภาพว่า ในห้วงเวลานี้… บรรดาวิสาหกิจขนาดย่อม (Micro Enterprise) ไปจนถึงธุรกิจขนาดเล็ก ล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “หาแรงงานยากมาก!” อีกทั้งงานเหล่านั้น “คนไทยก็ไม่ค่อยทำ” หากไปลองสำรวจดูจะเห็นได้ว่า งานระดับล่างทั้งหลายในตอนนี้ไม่มีคนเลย

ด้านหนึ่งต้องการ อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า นายจ้างรายเล็กบางรายต้องจำยอม “ตัดแขน” ที่เป็นเรี่ยวแรงสร้างรายได้ให้ตัวเองออกไป นั่นก็เพราะ “ต้นทุน” ที่แบกไม่ไหวในยามเศรษฐกิจร่อแร่อันเป็นผลจากวิกฤติโควิด-19

“ธุรกิจใหญ่ๆ ยังพอรักษาแรงงานไว้ได้ แบกไว้ได้ คงไม่มีปัญหาอะไร จ่ายไหว ยกเว้นแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต้องกลับ อีกอย่างธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่เองก็หันมาใช้เทคโนโลยีกันเยอะขึ้น สวนทางกับธุรกิจขนาดเล็กๆ ที่แน่นอนว่า พวกเขามีการรีดแรงงานออก เรียกว่า เจ๊งหมดทั่วประเทศ เพราะขาดแรงงาน”

รศ.ดร.ยงยุทธ ชี้ว่า งานที่ต้องอาศัย “แรงงานต่างด้าว” อายุ 3 ปี กำลัง “ขาดแคลนมาก!” เพราะปกติ เมื่อแรงงานเก่ากลับไปประเทศบ้านเกิด ก็จะมีแรงงานใหม่เข้ามาแทน แต่ทีนี้… การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การหมุนเวียนแรงงานตรงนี้เกิดปัญหา ผลกระทบเริ่มเกิด “ภาวะขาดแคลนแรงงาน” เพิ่มขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่พอเจอการระบาดอีกระลอกหนึ่งก็ไม่แน่ว่า ความต้องการอาจหายไปก็ได้…

เรียกได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น… งานมีแต่แบกต้นทุนไม่ไหว กับงานมีแต่ไม่มีคนทำงาน ทั้ง 2 อย่างนั้น ภาพที่เกิดขึ้น คือ “ความว่างเปล่า”

นอกจาก “ภาวะขาดแคลนแรงงาน” ที่ว่ามานั้น รศ.ดร.ยงยุทธ ยังมีอีก 2 ข้อกังวลเกี่ยวกับ “แรงงานต่างด้าว” ที่อาจจะเกิดขึ้น คือ

1) ข้อกังวลที่เกิดจากกรณี “ต้องการแรงงานแต่แบกต้นทุนไม่ไหว!”

ถ้ายังจำกันได้… เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2563 ทีมข่าวฯ มีการรายงานถึงการหลั่งไหลกลับบ้านเกิดของ “แรงงานต่างด้าว” ช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก ที่ปรากฎตัวเลขสูงถึง 3.1 แสนราย ซึ่งนั่นถือตัวเลขที่สูงกว่าที่ทางการประเมินเอาไว้อย่างมาก บอกเป็นนัยสำคัญได้ว่า แรงงานต่าวด้าวมีการ “ลักลอบ” ข้ามพรมแดนจำนวนมาก

จากข้อมูลของ รศ.ดร.ยงยุทธ เห็นได้ว่า การลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายไม่ได้เกิดจากการกระทำของ “คนต่างด้าว” แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ง่ายๆ ว่า “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง!” เพราะพบว่ามีนายจ้างบางรายยอมเสี่ยงใช้ “แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย” เหล่านี้ด้วย เพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการเข้ามาแบบปกติ จากที่ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 บาทต่อคนต่อการเข้ามาทำงาน 2 ปี ก็จ่ายเพียง 6,000-10,000 บาท แถมไม่ต้องจ่ายค่าตรวจโรค ค่า Work Permits และค่าประกันสังคม รวมถึงแรงงานต่างด้าวเองก็ไม่ต้องจ่ายค่านายหน้าหลายหมื่นบาทด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า ข้อมูลนั้นหลายคนอาจไม่ตกใจเท่าไรนัก เพราะในสถานการณ์ปกติที่ไม่ใช้วิกฤติโควิด-19 เช่นนี้ ก็เปรียบเป็นดั่ง “ธุรกิจสีเทา” ที่ฝ่ายรับประโยชน์เลือกจะมองข้ามและปิดเงียบ แต่หนนี้ความมา “แดง” เพราะเกิดการระบาดโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อปลายปี 2563

“น่าเป็นห่วงมากๆ สำหรับการลักลอบเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว อย่างในช่วงแรกนั้น ต้องยอมรับว่า เราไม่ได้มีการป้องกันเลย ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ จะเล็ดลอดตามมาด้วย เช่น กรณี จ.สมุทรสาคร ที่เชื่อว่าเป็นสายพันธุ์อังกฤษ”

2. ข้อกังวลที่เกิดจากกรณี “แรงงานต่างด้าว” ที่ยังไม่จดทะเบียน

ซึ่งจากข้อมูลของ รศ.ดร.ยงยุทธ มองว่า น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ตามมาภายหลัง คือ การจดทะเบียนรอบใหม่ของแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000-10,000 บาท ที่นับว่าสูงพอสมควรสำหรับแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ทำงานและไม่มีเงินสำรองจ่าย เบื้องต้นแบ่งเป็น

– ค่าคำร้องขออนุญาตทำงาน : 100 บาท
– ค่าตรวจสุขภาพ 2 ปี : 1,000 บาท
– ค่าลงตราวีซ่า/ปี : 1,900 บาท
– ค่าใบอนุญาตทำงาน 2 ปี : 1,800 บาท
– ค่าประกันสุขภาพ 2 ปี : 1,200 บาท
– ค่าปรับปรุงทะเบียนประวัติ : 80 บาท
– หลักประกันในการทำงานแรงงานต่าวด้าวเข้าประเทศ : 1,000 บาท

*ไม่รวมค่าตรวจโควิด-19 ที่ยังไม่ทราบว่าต้องจ่ายหรือไม่

รศ.ดร.ยงยุทธ เสนอแนะในส่วนนี้ว่า

1. อาจลดหย่อนบางรายการ หรือไม่เก็บจากแรงงานต่างด้าวจดทะเบียนใหม่ที่ปลอดโควิด-19 และเพิ่งได้สิทธิ์ลงทะเบียนให้ทำงานได้

2. กรมการจัดหางานจับคู่แรงงานกับนายจ้าง และประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้น

3. ช่วยเหลือปัจจัยสี่ ค่ากินอยู่ชั่วคราว ค่าที่พักพิง จนกว่าจะได้รับการจดทะเบียนครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม “แรงงานต่างด้าว” นับว่ามีบทบาทสำคัญต่อ “ตลาดแรงงานไทย” พอสมควร ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ที่มาทำงานทดแทน “คนไทย” ในส่วนงานระดับล่าง ดังนั้น ในห้วงเวลาที่กำลังระส่ำกับ “ภาวะขาดแคลนแรงงาน” เช่นนี้ บวกกับความลำบากจากวิกฤติโควิด-19 คงหนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพิงแรงช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการประสานระหว่างประเทศและประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้มากขึ้น เพราะยังมี “แรงงานต่างด้าว” อีกมากที่พลาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูล รวมถึงอาจใช้โอกาสนี้ในการปรับระบบการดำเนินงานใหม่เพื่อให้ในอนาคตมี “กำลังแรงงาน” ที่มีทักษะและศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไปได้.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/